“Do you know what is wait?” เสียงคุณพ่อคนนึงพูดกับลูกชายวัย 3-4 ขวบที่หน้าทางเข้าร้านอาหาร
ผมนั่งอยู่ในร้านกำลังรอเช็คบิล เข้าใจว่าคุณพ่อคงกำลังสอนให้ลูกรู้จักการรอคอย ด้วยน้ำเสียงใจเย็นและสีหน้าสีตาตั้งอกตั้งใจ ทำให้เกิดนึกถึงลูกตัวเองขึ้นมาเลย
จำได้ว่าตอนที่ตั้งชื่อเพจว่า ‘เลี้ยงลูกให้ถูกใจ’ ความคิดหลักคือบอกตัวเองว่าตั้งใจจะเลี้ยงลูกแบบสบายๆ ด้วยวิธีการไม่เคร่งครัด วิธีที่เราพ่อแม่ถูกใจ ให้เขาโตขึ้นเป็นเด็กที่ใครๆ ก็รัก ใครๆ ก็ถูกใจ
แต่จำไม่ได้เสียแล้วว่า ได้คิดได้ตั้งใจไว้ไหม ว่าจะพยายามให้ลูก รู้สึกถูกใจวิธีที่เราเลี้ยงเขาด้วยหรือเปล่า
ทั้งผมและแฟนเลี้ยงลูกแบบค่อนข้างสบายๆ อะไรปล่อยได้ปล่อย ไม่มีกติกาเคร่งครัด ถึงกระนั้นมาคิดๆ ดูแล้ว เรามีเงื่อนไขอยู่เล็กๆ น้อยๆ กับเขาเสมอ
“ถ้าอยากดื่มน้ำหวานต่อ ต้องทานข้าวให้หมดก่อน”
“ถ้าอยากจะออกไปเล่น ต้องอาบน้ำก่อน”
ผมคิดว่าเป็นการเริ่มฝึกให้เขารู้จักมีวินัย รู้จักยับยั้งชั่งใจ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ฯลฯ
คำถามว่า รู้จักการรอคอยไหม ทำให้ผมสะดุดคิด
ถ้าผมเป็นเด็ก ผมอาจจะอยากถามคุณพ่อกลับ ว่าแล้วคุณพ่อรู้จักการรอคอยไหม ให้ผมโตกว่านี้อีกสักขวบสองขวบ ค่อยสอนเรื่องนี้ได้ไหม
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราควรสอนเรื่องการรอคอยเมื่ออายุเท่าไร (คิดว่าถ้าเสิร์ชหาข้อมูลทางอินเตอร์เนท ก็คงจะมี) แต่ประเด็นคือตอนนี้มาคิดแทนลูกชาย ผมว่าถ้าเขาโตพอที่จะเข้าใจคำถาม ว่าเขาถูกใจที่พ่อแม่เลี้ยงเขาไหม? สงสัยเขาคงตอบว่าแค่ 50:50
ผมไม่ได้ถึงกับต้องการให้ลูกถูกใจการเลี้ยงของเรา 100% ไม่งั้นเขาคงกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจมาก แต่อย่างน้อย อยากให้คำตอบเป็นสัก 80:20 หรือ 70:30 ก็ยังดี เขาน่าจะมีความสุขขึ้น
ผมเช็คบิลค่าอาหารแล้ว ตั้งใจว่าวันนี้จะปล่อยให้ลูกได้เล่นที่ลาน playground ของห้างได้ค่ำกว่าเดิมแทนที่จะรีบกลับเหมือนทุกทีเพราะกลัวจะเข้านอนดึก
เล่นตามสบายเลยครับ พ่อจะไม่เร่งหนูสักคำ
“Yes, I know how to wait.” ผมบอกตัวเองในใจ
#เลี้ยงลูกให้ถูกใจ